ขั้นตอนการหนีไฟเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในอาคาร

รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการอพยพหนีไฟในอาคาร

ขั้นตอนอพยพหนีไฟในอาคาร ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร

“อัคคีภัย” เป็นหนึ่งในภัยที่ต้องเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นแล้ว ถ้าไม่มีมาตรการรับมือที่ดี ก็อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตได้ เพื่อให้คุณสามารถรับมือกับเหตุการณ์ไฟไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ Sunny Emergency Light ได้รวมเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับอพยพหนีไฟมาให้แล้ว จะต้องซ้อมปีละกี่ครั้ง? เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ควรทำอย่างไร? ขั้นตอนการอพยพหนีไฟมีอะไรบ้าง? อ่านได้เลยที่บทความนี้

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการซ้อมอพยพหนีไฟ?

การเกิดเหตุไฟไหม้ถือเป็นปัญหาร้ายแรงของโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอาคารต่าง ๆ เนื่องจากตึกเหล่านี้มักมีเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้า หรืออุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ที่ง่ายต่อการเกิดไฟไหม้ และลุกลามอย่างรวดเร็ว การซ้อมอพยพหนีไฟจึงเป็นสิ่งที่พนักงาน หรือผู้ใช้อาคารทุกคนไม่ควรเลยละเลย เพื่อที่จะได้รู้ว่า เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ต้องรับมืออย่างไร และหลบหนีไปในทิศทางใดให้รอดปลอดภัย และลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

ควรซ้อมอพยพหนีไฟปีละกี่ครั้ง?

ควรซ้อมอพยพหนีไฟปีละกี่ครั้ง

ตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการ ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 ระบุไว้ว่า นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างทุกคนฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟพร้อมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ควรทำอย่างไร?

เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้น สิ่งแรกที่ทุกคนจะต้องทำก็คือการตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก และประเมินสถานการณ์เบื้องต้นให้ดี หลังจากนั้นให้พิจารณาว่าควรทำอย่างไรถึงจะเหมาะสมที่สุด

  • กรณีที่เพลิงไหม้เล็กน้อย : ให้ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงเบื้องต้น และโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิง
  • กรณีที่เพลิงไหม้รุนแรง : ให้ตะโกนบอก หรือกดสัญญาณเตือนแจ้งให้ผู้อื่นทราบ รีบอพยพหนีไฟออกจากอาคาร และโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิง ถ้าไม่ร้อน ให้เปิดประตูออกช้า ๆ แล้วอพยพไปตามเส้นทางหนีไฟ แต่ถ้ามีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป (เพราะอยู่ในวงล้อมของเพลิงไหม้) ให้ใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟลอยเข้ามาได้ ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ แล้วโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบถึงตำแหน่ง เพื่อที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

9 ขั้นตอนการอพยพหนีไฟในอาคาร

7 ขั้นตอนการอพยพหนีไฟในอาคาร

เพื่อให้คุณสามารถอพยพหนีไฟในอาคารได้อย่างเหมาะสม Sunny Emergency Light ได้สรุป 9 ขั้นตอนการอพยพหนีไฟในอาคารสูงฉบับเข้าใจง่ายมาให้แล้ว ตามไปดูกันเลย

  1. ระงับสติอารมณ์ และทำการอพยพหนีไฟตามขั้นตอนที่เคยได้ซ้อมไว้
  2. เชื่อฟังคำแนะนำของอาสาสมัคร และพนักงาน รปภ. ที่เกี่ยวข้องกับแผนการอพยพ
  3. ขณะที่ลุกออกจากโต๊ะ หรือออกจากห้องทำงาน ให้เก็บทรัพย์สินมีค่า และเอกสารสำคัญต่าง ๆ ลงลิ้นชัก และล็อคกุญแจโดยเร็ว
  4. หลังจากนั้นให้ออกจากห้อง และมุ่งสู่บันไดหนีไฟด้วยการเดินเร็ว ห้ามวิ่ง ห้ามเดินย้อนกลับมา และไม่ต้องขนสัมภาระใด ๆ ติดตัวไปในขณะที่ทำการอพยพ
  5. ในระหว่างที่อพยพไปประตูหนีไฟ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก หรือใช้ถุงพลาสติกใส่ขนาดใหญ่ อัดอากาศบริสุทธิ์เข้าไป แล้วนำมาครอบศีรษะ จากนั้นให้หมอบคลานต่ำ หรือย่อตัวใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์จะอยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต
  6. การเดินภายในช่องบันไดหนีไฟ ให้เดินเรียงแถวขั้นบันไดละ 2 คน เพื่อป้องกันการเบียดเสียด และการสะดุดหกล้มขึ้น และในระหว่างที่เดินภายในช่องบันไดหนีไฟ ห้ามเดินคุยกัน ห้ามเดินล้วงกระเป๋า ห้ามส่งเสียงดัง และมองขั้นบันไดให้ดี
  7. ผู้ที่ออกจากชั้นเป็นคนสุดท้าย (ไม่ต้องยืนรอจนแน่ใจ) ให้ปิดประตูหนีไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ควันจากชั้นต่าง ๆ เข้ามาในช่องบันไดหนีไฟ
  8. เมื่ออพยพจนถึงชั้นล่างสุดแล้ว ให้ออกจากอาคารไปรวมตัวในจุดรวมพลทันที
  9. หากเกิดเหตุไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าออก แล้วนอนราบกับพื้น และกลิ้งตัวเพื่อดับไฟ

สิ่งที่ไม่ควรทำในขณะที่อพยพหนีไฟ

สิ่งที่ไม่ควรทำในขณะที่อพยพหนีไฟ มีดังนี้

  • ไม่หนีเข้าไปอยู่บริเวณจุดอับอาคาร เช่น ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่
  • ไม่หนีเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ
  • ไม่หนีขึ้นไปชั้นบน หรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นอยู่ชั้นบน ยกเว้นจะไม่สามารถอพยพหนีไฟไปชั้นล่างได้
  • ไม่ใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ และขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตได้

เสริมระบบความปลอดภัยในอาคารด้วยโคมไฟฉุกเฉินจาก SUNNY

โคมไฟฉุกเฉิน SG SUNNY

จะเห็นได้ว่า การติดตั้งโคมไฟฟ้าฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน สามารถให้แสงสว่างฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ได้ตามปกติ และติดตั้งป้ายไฟทางออกฉุกเฉินที่มีสัญลักษณ์คมชัด สังเกตเห็นได้ง่าย เพื่อนำทางให้ผู้ใช้อาคารไปยังบันไดหนีไฟ หรือทางออกฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด เป็นส่วนหนึ่งในระบบความปลอดภัยในอาคารที่มีความสำคัญอย่างมาก และเจ้าของอาคารไม่ควรละเลย ถ้าหากคุณไม่รู้จะใช้โคมไฟฉุกเฉินยี่ห้อไหนดี เราขอแนะนำโคมไฟฉุกเฉิน รุ่น SG ของ SUNNY ที่มาพร้อมกับระบบ Auto Check สามารถตรวจสอบการทำงานของตัวเครื่องได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่,​ หลอดไฟ, ฟิวส์, วงจรแสงสว่าง และระบบการชาร์จแบตเตอรี่ ช่วยให้คุณมั่นใจได้เลยว่า เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้จนทำให้ไฟฟ้าดับ จะมีแสงสว่างฉุกเฉินให้เห็นทัศนียภาพชัดเจนอย่างแน่นอน!

สรุปเรื่องการอพยพหนีไฟ

จะเห็นได้ว่า การซ้อมอพยพหนีไฟเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะจะช่วยให้เรารู้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ขึ้น สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนที่ไม่ควรทำ ต้องหลบหนีไปยังเส้นทางใดเพื่อที่จะได้อพยพออกมาจากอาคารอย่างปลอดภัย ถ้าหากคุณต้องไปทำงานในสถานที่ใหม่ ๆ ก็อย่าลืมที่จะศึกษาเส้นทางหนีไฟและซ้อมอพยพหนีไฟกับอาคารนั้น ๆ เพราะไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ตอนไหน การเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดนั่นเอง

Visitors: 61,132